พันธุ์ปลาน้ำจืดที่ไม่มีเกล็ดของไทย เช่น
1. ปลาแค้, ตุ๊กแก GIANT BAGARIUS, GOONCH : Bagarius yarrelli
รูปร่างคล้ายปลากด หัวโตและแบนราบ ตาเล็ก มีตุ่มเล็กอยู่บนผิว ครีบหลังมีก้านครีบแข็งยื่นยาวออกไปเป็นเส้นยาว ครีบหางมีปลายเรียวยาวเป็นเส้น ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลแก่มีลายดำพาดขวาง ท้องสีน้ำตาลอ่อน ครีบต่าง ๆ สีน้ำตาล อาศัยในแม่น้ำสายใหญ่ ตั้งแต่ลุ่มแม่น้ำสาละวิน แม่น้ำเจ้าพระยาถึงแม่น้ำโขง และภาคใต้ ที่แม่น้ำปัตตานี ขนาดที่พบทั่วไปประมาณ 60 เซนติเมตร ขนาดโตเต็มที่มีความยาว 2 เมตร กินปลา สัตว์หน้าดิน และซากสัตว์ เป็นอาหาร
ปลาแค้
2. ปลาสายยู, เผือก, เผาะ SNAIL EATER PANGASIUS : Pangasius conchophilus
ปากอยู่ด้านล่างของจะงอยปาก หนวดยาว แถบฟันบนเพดานเชื่อมติดกันเป็นรูปเหลี่ยม ก้านครีบแข็งที่หลังค่อนข้างยาวและใหญ่ หัวและลำตัวสีเทา หรือเขียวมะกอก ไม่มีแถบคล้ำ พบตั้งแต่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาถึงแม่น้ำโขง ในแม่น้ำสายหลัก ขนาดโตเต็มที่ความยาว 80 เซนติเมตร กินหอย ปู และกุ้ง เป็นปลาเศรษฐกิจและนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม
ปลาสายยู
3. ปลาแขยงธง BOCOURT’S RIVER CATFISH : Heterobagrus bocourti
มีรูปร่างยาวเรียวแบนข้าง ปากเล็ก มีหนวด 4 คู่ ครีบหลังมีขนาดใหญ่และยาวสูงเด่นคล้ายชายธง ครีบอกมีเงี่ยงแหลมคม ครีบไขมันมีขนาดใหญ่และยาว ครีบหางเว้าลึก อาศัยในแหล่งน้ำไหล ตามแม่น้ำและลำคลอง พบตั้งแต่ลุ่มน้ำแม่กลองถึงแม่น้ำโขง มีขนาด 10 - 24 เซนติเมตร กินลูกปลา ลูกกุ้ง เป็นอาหาร
ปลาแขยงธง
4. ปลาบึก MEKONG GIANT CATFISH : Pangasianodon giga
ส่วนหัวใหญ่ ตาเล็ก ไม่มีฟัน มีหนวดสั้น 1 คู่ซ่อนอยู่ในร่องตรงมุมปาก ลำตัวจะเป็นสีเทา ครีบทุกครีบสีเทาจาง ๆ อยู่รวมกันเป็นฝูงบริเวณเขตน้ำลึก พบอาศัยอยู่เฉพาะในแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาเท่านั้น ขนาดโตเต็มที่มีความยาวกว่า 3 เมตร และมีน้ำหนักมากกว่า 250 กิโลกรัม กินสาหร่ายที่ขึ้นอยู่ตามก้อนหินใต้น้ำ ใช้เป็นอาหารจัดเป็นปลาที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์
ปลาบึก |